Call Us

Location

การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้

เรื่องเงินและทรัพย์สินมักก่อให้เกิดปัญหาที่ทำให้หลายคนรู้สึกเครียด โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการหยิบยืมเงิน ซึ่งส่งผลต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งทางจิตใจและสังคม ในบทความนี้จะพูดถึงกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ในกระบวนการทวงหนี้ ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558: กฎหมายนี้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทวงหนี้ และ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล: ป้องกันการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกหนี้โดยไม่ได้รับอนุญาต 

ใครมีสิทธิ์ทวงหนี้

ตามกฎหมาย ผู้ทวงถามหนี้ หรือเจ้าหนี้ มีสิทธิ์ในการทวงหนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาหรือข้อตกลงที่ถูกต้องโดยไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นตัวแทนของนิติบุคคล ในนามของบริษัทสินเชื่อ, ประกัน, ธนาคาร, เจ้าหนี้นอกระบบ และอื่นๆ ได้

การนับความถี่และขอบเขตการทวงหนี้

การทวงหนี้จะนับเมื่อลูกหนี้รับทราบการทวงอย่างชัดเจน การติดต่อที่ไม่ได้เจาะจงถึงการทวงหนี้ หรือไม่ได้รับการตอบรับจากลูกหนี้ไม่ถือว่าเป็นการทวงหนี้ตามกฎหมายและเจ้าหนี้ สามารถทวงหนี้โดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่าง 8.00 น.- 20.00 น. วันหยุดราชการ 08.00 น.-18.00 น. ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง

ข้อปฏิบัติในการทวงหนี้

  • ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นรู้ ยกเว้น เป็นคนในครอบครัวลูกหนี้ เช่น สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ซึ่งเป็นการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของลูกหนี้
  • ไม่ให้ประจานหรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง 
  • ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมาย หนังสือหรือสื่อใดๆ ให้(บุคคลอื่น) เข้าใจว่า ติดต่อเพื่อทวงหนี้ 
  • ห้ามติดต่อ หรือทำให้ผู้ติดต่อด้วยเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้
  • ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น หากฝ่าฝืนมีมีความผิด ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น การขู่ว่าหากไม่จ่ายหนี้จะถูกจำคุก ซึ่งความจริงคือ การไม่จ่ายหนี้ไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เท่านั้น
  •  ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น 
  •  ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นๆตามที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศ

หากเจ้าหนี้ละเมิดข้อห้ามจะมีผลอย่างไร

หากเจ้าหนี้ฝ่าฝืนข้อปฏิบัติในการทวงหนี้ถือว่ามีความผิด สามารถแจ้งร้องเรียนเอาผิดได้ โดยคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้สามารถมีคำสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับได้ นอกจากนี้ถ้าเจ้าหนี้ “ทวงถามหนี้” ที่เป็นเท็จ (มาตรา 12) หรือทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 13) จะได้รับโทษที่หนักขึ้นด้วย 

ลูกหนี้สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่มีทั้งในระดับประเทศและจังหวัด การร้องเรียนที่ชอบด้วยกฎหมายจะทำให้เจ้าหนี้อาจถูกปรับหรือจำคุก หากฝ่าฝืนตามกฎหมายทวงหนี้ แสดงถึงความจำเป็นในการรักษาความสัมพันธ์ทางการเงินให้เป็นธรรมและมีมนุษยธรรมต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การทราบข้อกำหนดและเข้าใจกฎหมายเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้เจ้าหนี้ปฏิบัติตามกรอบที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกหนี้ที่อาจถูกคุกคามจากการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

การประยุกต์ใช้กฎหมายนี้ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจจากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้กระบวนการทวงถามหนี้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและไม่เกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตึงเครียด การทวงหนี้อาจส่งผลกระทบสู่สภาวะทางจิตใจและการดำรงชีวิตของลูกหนี้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ตามกฎหมายทวงหนี้ไม่เพียงแต่มีการกำหนดข้อบังคับและสิทธิที่ชัดเจนเพื่อให้กระบวนการทวงหนี้เป็นไปอย่างยุติธรรมและมีความรับผิดชอบ แต่ยังรวมถึงการป้องกันการละเมิดสิทธิของลูกหนี้และความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *