ในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการองค์กร หนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังในการบริหารเป้าหมายคือ OKR (Objectives and Key Results) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงเป้าหมายระหว่างทีมและบุคคลให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักขององค์กร โดยมีส่วนประกอบหลักอยู่ 2 ส่วนหลัก ดังนี้
Objectives (เป้าหมาย)
เป้าหมายที่ต้องการทำให้บรรลุ ต้องชัดเจน กระชับ เข้าใจง่าย ซึ่งมีประมาณ 3-5 อย่าง ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการทำงานของพนักงานแต่ละคน รวมทั้งบทบาทต่อทีมและองค์กร โดยจะมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงหรือผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายที่ไม่ง่ายจนเกินไป เพื่อเป็นความท้าทายให้ทุกคนอยากบรรลุเป้าหมายนั้น แต่ก็ต้องไม่ยากจนเกินไปจนทำให้เกิดความท้อถอยตั้งแต่เริ่มลงมือ
Key Results (ผลลัพธ์สำคัญ)
เป็นตัววัดผลที่ชัดเจนและสามารถวัดผลความสำเร็จของเป้าหมายหลักได้ ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายย่อยลงมาอีก 3-5 ข้อย่อยต่อ 1 เป้าหมาย เพื่อให้เป้าหมายที่กำหนดมีการทำงานและพัฒนาขึ้นไปในทางที่เป็นไปได้ โดยการวัดผลนั้นควรมีความชัดเจนและวัดผลได้ เช่น ใช้ตัวเลข เปอร์เซ็นต์ หรือผลลัพธ์ที่ตรวจสอบได้ ควรตั้งให้กระตุ้นการทำงาน ไม่ง่ายจนเกินไป แต่ต้องไม่ยากจนเกินความสามารถ มีเวลาเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ระบุกรอบเวลาในการบรรลุเป้าหมาย และสอดคล้องกับ Objective ซึ่งอาจมีการวัดผลทุกเดือน หรือทุกไตรมาสธุรกิจ เพื่อให้พนักงานแต่ละคนสามารถวัดผลการทำงานของตัวเองได้เป็นประจำ
ดังนั้น OKR เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมหรือองค์กรมุ่งเน้นเป้าหมายที่สำคัญและชัดเจน ที่จะช่วยผลักดันให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้โดยเน้นการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและสามารถวัดได้เป็นหลัก เพราะเป้าหมายของ OKR นั้นมีไว้เพื่อกระตุ้นให้รู้สึกอยากบรรลุความสำเร็จ บ่อยครั้งเราจึงเห็นเป้าหมายที่สูงมากจนพูดได้ว่าแทบไม่มีโอกาสสำเร็จ 100% แต่หัวใจที่แท้จริงของ OKR คือการสร้างภารกิจที่ชัดเจน และช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันในทีม เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ เข้าใจและร่วมมือกันสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตาม OKR นั้นๆ ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วยกัน