การทารุณกรรมสัตว์ไม่ใช่แค่ปัญหาทางศีลธรรม แต่ยังเป็นเรื่องที่ถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ได้กำหนดบทบัญญัติทางกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำทารุณต่อสัตว์ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านี้คือการสร้างความรับผิดชอบทางสังคมในการดูแลสัตว์ ลดความเจ็บปวดที่สัตว์ต้องเผชิญ และสร้างความตระหนักในการเคารพสิทธิ์ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
ในประเทศไทย กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์คือ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ระบุถึงสิทธิและการคุ้มครองสัตว์อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายในการป้องกันการทารุณกรรมและการละเลยสัตว์ มุ่งคุ้มครอง “สัตว์” โดยแบ่งเป็น สัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด
ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นิยามคำว่า “การทารุณกรรม” แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
๑.เป็นการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย
๒. ให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ
การทารุณกรรมสัตว์เป็นการละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของสัตว์ซึ่งสมควรได้รับการคุ้มครอง ภายใต้กฎหมายที่เข้มงวดของไทยและมาตรฐานสากลที่ยึดหลักความเป็นธรรมและความเมตตาต่อสัตว์ การปฏิบัติที่ถูกต้องจะช่วยลดปัญหาทารุณกรรมสัตว์และสร้างสังคมที่มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด