Call Us

Location

ผู้เยาว์ทำนิติกรรมใดได้บ้าง

ตามกฎหมายไทย “ผู้เยาว์” คือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยกำหนดอายุบรรลุนิติภาวะไว้ที่ 20 ปีบริบูรณ์ ผู้เยาว์จึงหมายถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมายในการทำธุรกรรมหรือการกระทำทางกฎหมาย (นิติกรรม) เนื่องจากกฎหมายถือว่าผู้เยาว์ยังขาดความสามารถและประสบการณ์เพียงพอในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ยังเป็นการปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของผู้เยาว์จากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย

ดังนั้น การที่ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีสิทธิ์ให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในนิติกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้เยาว์จากการถูกเอาเปรียบในธุรกรรมที่ซับซ้อนหรือมีภาระผูกพันที่อาจไม่สามารถรับผิดชอบได้ เช่น ผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ บิดา มารดา ที่มีอำนาจปกครองบุตร หรือบุคคลอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามกฎหมาย และหากผู้เยาว์ทำนิติกรรมใด ๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน นิติกรรมนั้นจะถือว่าเป็น “โมฆียะ” หมายความว่านิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ แต่สามารถยกเลิกได้ในภายหลัง

แม้ผู้เยาว์จะยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่กฎหมายก็อนุญาตให้ผู้เยาว์ทำ “นิติกรรมบางประเภท” ได้ ดังนี้

  • นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง เช่น ผู้เยาว์รับทรัพย์สินที่บุคคลอื่นให้โดยเสน่หา
  • ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร  เช่น ผู้เยาว์เป็นนักเรียนต้องซื้อเครื่องเขียนแบบเรียน ต้องซื้อเสื้อผ้า รองเท้าเพื่อใส่ไปโรงเรียน การซื้อเช่นนี้เป็นการสมแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์ และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร แต่ถ้าผู้เยาว์ต้องการซื้อรถยนต์เพื่อขับไปโรงเรียน ถ้าเป็นสิ่งที่เกินฐานะและเกินความ จำเป็นแล้ว ผู้เยาว์จะต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน
  • กิจการที่จะต้องทำเองเฉพาะตัว
  • ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม  ถ้าผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยมีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ พินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ
  • ผู้เยาว์ประกอบธุรกิจการค้าหรือทำสัญญาเป็นลูกจ้าง ในกรณีผู้เยาว์ประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น  หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานนั้นนั้นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์ทำบางนิติกรรมได้เองเพียงลำพังหากเป็นธุรกรรมเล็กน้อยหรือธุรกรรมที่เป็นประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แต่การทำธุรกรรมที่มีผลกระทบหรือมีภาระผูกพันจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง กฎหมายจึงมีความยืดหยุ่นในการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *