กฎหมายลักษณะมรดก มีบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2478 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนทรัพย์สินและสิทธิทางกฎหมายของบุคคลหลังจากที่บุคคลนั้นถึงแก่กรรม กฎหมายมรดกถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อการจัดการทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตและความสัมพันธ์ในครอบครัว
มรดก คือ ทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตาย และมรดกรวมถึงสิทธิและหน้าที่ ความรับผิดต่างๆ ของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ตายด้วย มรดกที่เป็นทรัพย์สิน คือ สิ่งที่มีค่า มีราคา เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เป็นต้น มรดกที่เป็นสิทธิ คือ สิ่งที่จะได้มาหรือที่มีอยู่ เช่น สิทธิตามสัญญากู้ยืมเงิน สิทธิตามสัญญาเช่า สิทธิในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ในการได้รับเงินคืน เป็นต้น ในส่วนของ มรดกที่เป็นความรับผิด คือ เป็นเรื่องที่จะต้องชดใช้ เช่น ความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มี การก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้อื่น หรือความรับผิดที่เกิดจากการผิดข้อสัญญาต่าง ๆ
ผู้มีสิทธิได้รับมรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ใครบ้างที่จะมีสิทธิได้รับมรดก หรือเป็น ทายาทของผู้ตาย บุคคลซึ่งจะมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย กฎหมายกำหนดไว้ 2 ประเภทคือ
1. ทายาทโดยธรรม หรือทายาทโดยผลของกฎหมาย หมายถึง ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งแม้ผู้ตายหรือเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ ทายาทโดยธรรมก็ย่อมมีสิทธิได้รับ และจะมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายต่อเมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนเอาไว้ หรือจำหน่ายไว้ไม่หมด
การรับมรดกของทายาทโดยธรรมนั้นกฎหมายได้กำหนดไว้ให้เป็นไป ตามลำดับชั้น ดังนี้
- ผู้สืบสันดาน
- บิดา มารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
- ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลุง ป้า น้า อา
- สำหรับคู่สมรสของเจ้ามรดกนั้น คือ คู่สมรสที่ชอบตัวยกฎหมาย คือ ที่ได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้ามรดก หากมีชีวิตอยู่ก็มีสิทธิรับมรดกเสมอ แต่จะได้รับมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่า ต้องรับมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมประเภทญาติในลำดับใด
2. ผู้รับพินัยกรรม หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิในทรัพย์มรดก เพราะเจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้ให้ ผู้รับพินัยกรรมจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเครือญาติกัน แต่ทั้งนี้ ผู้รับพินัยกรรมจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมายโดยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
กฎหมายมรดกเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การถ่ายโอนทรัพย์สินหลังความตายเป็นไปอย่างเป็นธรรมและเป็นระบบ การวางแผนจัดการมรดกล่วงหน้าผ่านพินัยกรรมถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะช่วยลดข้อขัดแย้งในครอบครัวและทำให้ทุกฝ่ายได้รับสิทธิอย่างชัดเจน