“PDPA: กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในยุคดิจิทัล”

ปัจจุบันถือเป็นยุคสมัยที่เศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลต่างๆ มากมาย ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ข้อมูลจึงกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีมูลค่ามหาศาลสำหรับองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะ ข้อมูลส่วนบุคคล ที่ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าและมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในหลากหลายด้าน เช่น การตลาด การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้องค์กรสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ แต่ยังช่วยในการปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและสร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ข้อมูลส่วนบุคคลมีความสำคัญและมีมูลค่ามหาศาล จึงทำให้การจัดการและการปกป้องข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดการรั่วไหลหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบุคคล และทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งทางกฎหมายและทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลไม่เพียงแต่ส่งผลต่อบุคคลเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้างได้ เช่น การทำลายความไว้วางใจของลูกค้าหรือผู้บริโภคในธุรกิจ การสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบดิจิทัล หรือแม้กระทั่งการถูกฟ้องร้องและรับผิดชอบทางกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบทางการเงิน รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น การขโมยข้อมูลเพื่อการฉ้อโกง การกลั่นแกล้งออนไลน์ หรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในทางอื่นๆอย่างรุนแรง 

PDPA  (Personal Data Protection Act) หรือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒” จึงมีขึ้นเพื่อให้ภาคเอกชน และภาครัฐ (บุคคล/นิติบุคคล) ที่เป็นผู้เก็บรวมรวมหรือถือครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งในทางกฎหมาย มีฐานะเป็น Data Controller ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยต้องจัดให้มีมาตรการดูแล และปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว และที่สำคัญต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนการเก็บ รวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลนั้น และหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังกำหนดให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของ ข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิต่างๆภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลส่วนบุคคลถูกเก็บรวบรวมและใช้งานอย่างมากมาย กฎหมายนี้มีเป้าหมายในการสร้างความโปร่งใสในการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ธุรกิจและองค์กรต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรฐานการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการละเมิดที่อาจเกิดขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้ สิทธิความเป็นส่วนตัว ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะช่วยป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและกำหนดกรอบในการใช้งานข้อมูลเหล่านี้อย่างถูกต้องและโปร่งใส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *