ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ มิจฉาชีพมีการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการหลอกลวงผู้คนกลายเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยขึ้น และหนึ่งในนั้นคือ “บัญชีม้า” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อหลบเลี่ยงการติดตามจากเจ้าหน้าที่ โดยการเปิดบัญชีธนาคารที่ใช้ชื่อของบุคคลอื่นเพื่อรับเงินจากการกระทำผิด ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกง เว็บพนันออนไลน์ และการหลอกให้กู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ต่าง ๆ
ดังนั้น จึงมีพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ออกมาเพื่อป้องกันการกระทำผิดเหล่านี้
- มาตรา 9 “ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ *โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทาเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
- มาตรา 10 “ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 แสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
- มาตรา 11 “ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเบอร์โทรศัพท์มือ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 – 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
อย่างไรก็ตาม การใช้บัญชีม้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจมีโทษทั้งจำคุกและปรับหนักสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อหรือมีแนวโน้มที่จะรับงานนี้ ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด อย่าลืมว่าการรับงานที่ดูง่ายและดึงดูด แต่มีความเสี่ยงสูงนั้นอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของเราอย่างมาก