โลกออนไลน์กับการแสดงความคิดเห็น: เสรีภาพที่ต้องมีความรับผิดชอบ

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ได้เปิดโอกาสให้ผู้คนแสดงความคิดเห็น แชร์ข้อมูลข่าวสาร และโพสต์เนื้อหาต่างๆ อย่างอิสระ แต่ความเป็นอิสระนี้กลับมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ผู้ใช้ต้องตระหนักถึง เพราะการโพสต์หรือแชร์เนื้อหาบนโลกออนไลน์นั้นไม่ควรเป็นเรื่องที่คิดเพียงชั่วครู่ชั่วยาม การกระทำเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อบุคคลที่สามได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการใช้ถ้อยคำที่เสียดสี หรือความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ การกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือชีวิตของผู้อื่นได้

ดังนั้น การนินทาหรือใส่ความผู้อื่นในแชทกลุ่ม อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 

การโพสต์เฟซบุ๊ก ด่าผู้อื่น ประจานเมียน้อย ประจานลูกหนี้ ทวงถามหนี้ลูกหนี้ผ่านทางเฟสบุค ระบุชื่อ-นามสกุล ลงรูป โดยมีลักษณะเป็นการเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชน เป็นความผิดอาญา ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

โดยการใส่ความ ใส่ร้าย นินทาผู้อื่นให้เสื่อมเสียชื่อเสียงตามกฎหมายนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องด่าทอด้วยคำหยาบคายแต่เป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอหรือมีเจตนาไม่ดี ไม่ว่าจะทางแชทไลน์ ข้อความ หรือการโพสต์ลงโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถถูกดำเนินคดีได้ แม้ว่าจะเกิดด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้โพสต์ ผู้แชร์ หรือผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นหรือคอมเมนต์ก็ตาม