“แรงงานต้องปรับตัว: ทักษะ AI กลายเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของเราอยู่เสมอ ทั้งการทำงานระยะไกล การใช้ระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งยังเห็นร้านค้าเข้าสู่แพลตฟอร์ม e-commerce มากขึ้น นอกจากเทรนด์การทำงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว แรงงานยังมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นแรงงานอิสระมากขึ้นทำให้เราจำเป็นต้องรู้จักเทรนด์เพื่อปรับตัวสู่การทำงานในอนาคต

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ทีม Big Data จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เปิดเผยผลวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานะความต้องการแรงงานและทักษะที่นายจ้างต้องการในปัจจุบัน ภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะ AI มากที่สุดใน 3 อันดับแรก คือ 1. อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 483 ตำแหน่ง 2. อุตสาหกรรมการเงินและการประกันภัย 398 ตำแหน่ง และ 3. อุตสาหกรรมการกิจกรรม การบริหาร และบริการสนับสนุน 394 ตำแหน่ง นอกจากนี้ เมื่อนำข้อมูลชุดเดียวกันไปจำแนกตามกลุ่มอาชีพพบว่า กลุ่มอาชีพ 3 อันดับแรกที่ต้องการทักษะ AI มากที่สุด ประกอบด้วย 1. งานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 1,098 ตำแหน่ง 2. งานด้านการจัดการ 906 ตำแหน่ง และ 3. งานธุรกิจและการเงิน 584 ตำแหน่ง

สะท้อนให้เห็นว่าทักษะการใช้งาน AI ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก องค์กรจึงควรที่จะตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้ช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานของพนักงานและพนักงานต้องรู้จักปรับตัวเพื่อให้ทันต่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี