การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน: สิทธิและการคุ้มครองที่ควรรู้

พฤติกรรมการกลั่นแกล้งในที่ทำงานถือเป็นปัญหาร้ายแรงและสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ ในประเทศไทย มีการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองผู้ถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ซึ่งหนึ่งในมาตราที่สำคัญคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท”

ซึ่งการกระทำที่มีลักษณะเป็นการข่มเหง ข่มขู่ หรือกลั่นแกล้งซึ่งกันและกัน โดยอาจเกิดจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือแม้แต่จากผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น ได้รับมอบหมายงานที่ไม่สามารถทำได้ ถูกดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรงต่อหน้าคนในองค์กร หรือ ถูกข่มขู่ว่าจะลดเงินเดือนหรือลดประโยชน์ การกระทำเหล่านี้สามารถเป็นทั้งคำพูดและการกระทำที่ทำให้เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน 

ดังนั้น มาตรา 397 จึงมีขึ้นเพื่อปกป้องผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิในที่ทำงานให้สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่กระทำการรังแกได้ โดยเน้นการป้องกันข้อพิพาทระหว่างบุคคลไม่ให้เรื่องราวบานปลายใหญ่โต และป้องกันไม่ให้ความผิดอาญาขยายใหญ่เกินไป จนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข สำหรับความผิดตามมาตรานี้นั้นจะเป็นความผิดแบบลหุโทษ ซึ่งหมายถึงความผิดที่จริง ๆ แล้วถือว่ายอมความกันได้ในชั้นของพนักงานสอบสวน แต่ถ้าหากผู้เสียหายอยากต่อสู้จนถึงที่สุด ก็สามารถดำเนินการร้องทุกข์ต่อไปได้ เพื่อก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไปได้เช่นกัน 

การกลั่นแกล้งในที่ทำงานเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม และมีการคุ้มครองตามกฎหมายที่ชัดเจน ผู้ถูกกระทำควรรู้ถึงสิทธิของตนและสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องเพื่อปกป้องตนเอง นอกจากนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นบวกและปราศจากการกลั่นแกล้งยังเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรควรให้ความสำคัญเพื่อสุขภาพจิตและความสุขในการทำงานของพนักงานทุกคน